ธัญพืชไทยเพื่อสุขภาพ
การบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ กำลังเป็นกระแสนิยมในสังคมไทย ซึ่งการบริโภคเมล็ดธัญพืชจากต่างประเทศ อย่างเช่น คีนัว และเมล็ดเชีย ที่ค้นพบว่ามีประโยชน์มากมาย ก็กำลังเป็นที่สนใจของคนรักสุขภาพอย่างกว้างขวางถึงแม้จะมีราคาสูงมาก เมื่อเทียบกับธัญพืชของไทยก็ตาม
"อ.ชินริณี วีระวุฒิวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม กล่าวว่า คีนัว และเมล็ดเชีย เป็นพืชจากอเมริกาใต้ และอเมริกาเหนือพบมากใน โบลีเวีย เปรู เอกวาดอร์ โคลัมเบีย โดยมีการค้นพบว่า คีนัว (Quinoa) มีโปรตีน แคลเซียม ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม ธาตุเหล็ก และไขมันดี ไฟเบอร์ และสารต่อต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งคุณประโยชน์คล้ายกับธัญพืชหลากสี ลูกเดือย ถั่วแดง ถั่วดำ"
สำหรับ เมล็ดเชีย (Chia Seed) เป็นพืชในกลุ่มเทศตระกูลเดียวกับกะเพรา หรือ มินต์ แม้ว่าเมล็ดเชียจะมีประโยชน์ต่อร่างกายแต่ก็มีข้อยกเว้นสำหรับคนบางกลุ่ม อาทิ คนที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบกระเพาะอาหาร และลำไส้ ไฟเบอร์จากเมล็ดเชียที่ขยายตัวในกระเพาะอาหารเพิ่มขึ้นมากเกินไปอาจกระตุ้นให้ตับอ่อนเร่งสร้างน้ำย่อยออกมาได้ ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตต่ำ ไม่ควรบริโภคเพราะมีผลต่อแรงดันเลือดขณะที่หัวใจคลายตัวให้ต่ำลง (Diastolic blood pressure) อาจก่อให้เกิดอาการช็อก หรือ หมดสติได้ และผู้หญิงตั้งครรภ์ หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร ไม่ควรบริโภคเพราะมีผลต่อสารอาหารในน้ำนมให้เปลี่ยนไปจากเดิม เป็นต้น
1. ลูกเดือย (job's tears) เป็นธัญพืชประเภทคาร์โบไฮเดรต เป็นพืชพื้นเมืองแท้ๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีเส้นใยอาหารสูง เป็นพืชตระกูลเดียวกับข้าว มีคุณค่าทางอาหารสูง เพราะมีปริมาณโปรตีน 13.84% คาร์โบ-ไฮเดรต 70.65% ใยอาหาร 0.23% ไขมัน 5.03% แร่ธาตุต่างๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะฟอสฟอรัส ซึ่งช่วยบำรุงกระดูก มีอยู่ในปริมาณสูง รวมทั้งวิตามินเอ ที่ช่วยบำรุงสายตา วิตามินบี 1 และวิตามินบี 2 โดยเฉพาะวิตามินบี 1 มีในปริมาณมาก ซึ่งช่วยแก้โรคเหน็บชาด้วย นอกจากนี้ ลูกเดือยยังมี กรดอะมิโน มีกรดไขมันจำเป็นชนิดที่ไม่อิ่มตัว เช่น กรดโอเลอิค และกรดลิโนเลอิก รวมแล้วถึง 84%
2. ข้าวหอมนิล (Purple Rice) มีวิตามินบีรวม ช่วยป้องกันและบรรเทาอาการอ่อนเพลีย แขน ขาไม่มีแรง ปวดกล้ามเนื้อโรคผิวหนังบางชนิดบำรุงสมอง ทำให้เจริญอาหาร ไนอาซีน ช่วยการทำงานของระบบประสาท และระบบผิวหนัง และธาตุเหล็กที่มีอยู่ในข้าวหอมนิลนี้ เมื่อเข้าไปในร่างกายสามารถดูดซึมและนำไปใช้ประโยชน์ในด้านการบำรุงโลหิตได้ทันที
3. ถั่วแดง (Red Kidney bean) จัดเป็นอาหารเพื่อสุขภาพอย่างหนึ่ง โดยโปรตีนที่ได้จากถั่วแดงนั้นมีคุณค่าทางอาหารเทียบเท่ากับเนื้อสัตว์เลยทีเดียว แถมยังไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพอีกด้วย การรับประทานถั่วแดงนอกจากจะให้พลังงานแก่ร่างกายที่สูงแล้ว ยังทำให้รู้สึกอิ่มท้องได้นาน มีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย มีธาตุเหล็ก ที่ช่วยบำรุงโลหิต วิตามินบีหลายชนิด และมีแคลเซียมสูง การรับประทานเป็นประจำสามารถช่วยบำรุงกระดูกและฟัน ป้องกันภาวะกระดูกเสื่อม ป้องกันโรคกระดูกพรุน และแคลเซียมยังมีบทบาทสำคัญต่อการทำงานของระบบประสาทและการหดตัวของกล้ามเนื้อ เป็นต้น
4. ถั่วดำ (black bean) มีสารฟลาโวนอยด์ หรือสารล้างพิษกรัมต่อกรัมสูงที่สุด รองลงมาเป็นถั่วสีแดง น้ำตาล เหลืองและขาวตามลำดับ เพราะในถั่วดำนั้นมีสารสำคัญอย่างแอนโทไซยานินส์ ซึ่งนับเป็นตัวล้างพิษชั้นดี โดยเมื่อเทียบกับการกินถั่วดำในปริมาณเท่ากันกับการกินส้มแล้ว ถั่วดำจะมีปริมาณสารล้างพิษมากกว่าในส้มถึง 10 เท่า เลยทีเดียว คือเทียบได้กับองุ่นและแอปเปิล แต่การทำให้ถั่วดำสุกนั้นก็จะสูญเสียตัวล้างพิษไปบ้าง แต่ก็ยังสามารถล้างพิษให้ร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเทคนิคการต้มถั่วดำควรนำมาคั่วเพื่อให้หอม แล้วแช่ในน้ำร้อนจัดทิ้งไว้ 3 ชม. หรือน้ำธรรมดาทิ้งไว้ 1 คืน (หรือประมาณ 6 ชม.) แล้วค่อยนำมาต้ม วิธีนี้จะได้ถั่วต้มที่นุ่ม ไม่กระด้าง
5. รำข้าว (rice bran) ปลายเมล็ดข้าว หรือที่เรารู้จักกันแล้วว่า จมูกข้าว เป็นแหล่งรวมของวิตามินและเกลือแร่ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ซึ่งถ้าผ่านกระบวนการสกัดและผลิตอย่างมีมาตรฐานแล้ว มีวิตามินอีธรรมชาติ ช่วยให้ผิวยืดหยุ่น เต่งตึง ลดจุดด่างดำ ลดริ้วรอย ทั้งยังเป็นสารต่อต้านสารอนุมูลอิสระ และช่วยชะลอวัย แกมมาโอริซานอล เข้มข้นจากน้ำมันรำข้าวเมื่อผ่านกระบวนการพิเศษ จะให้คุณค่าจากสารต้านอนุมูลอิสระ ปกป้องผิว ช่วยให้ผิวชุ่มชื่น ต้านการอักเสบ ลดคอเลสเตอรอล และไตรกลีเซอไรด์ ทั้งยังปกป้องและลดการตีบตันของหลอดเลือด วิตามินบี-คอมเพล็กซ์ ช่วยในเรื่องบำรุงประสาท เหน็บชา ช่วยระบบเมตาบอลิซึ่ม แร่ธาตุ อาทิ แมกนีเซียม ฟอสฟอรัส สังกะสี ช่วยเพิ่มพลังงาน เพิ่มการเผาผลาญ เสริมสร้างการเจริญเติบโตของสมอง และยังเพิ่มการทำงานของระบบฮอร์โมน
ที่มา:http://www.thaihealth.or.th/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น